ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก และมีความสำคัญต่อการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองไทย เนื่อง จากพบจารึก หลักซึ่งกล่าวถึงลำดับราชวงศ์เขมรช่วยให้การลำดับราชวงศ์เขมรมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจนมากขึ้น
ต่อมาปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้รับการเก็บกู้ระเบิดออกจากบริเวณปราสาทจนเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 และกรมศิลปากรเริ่มบูรณะซ่อมแซมปราสาทสด๊กก๊อกธมด้วยวิธีอนัสติโลซิ สตั้งแต่ พ.ศ.2538 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2550 ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง
โดยจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสามารถสันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้เริ่มสร้างช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ยังไม่แล้วเสร็จและต้องล้มเลิกการ ก่อสร้างไป ปราสาทหลังนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ ตัวปราสาทและบาราย (สระน้ำ) ตัวปราสาท มีกำแพงแก้วล้อมรอบสามารถเข้าออกได้ 2 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออกเป็น โคปุระ (ซุ้มประตู) หลักสำหรับเข้าออก และด้านทิศตะวันตกเป็นซุ้มประตูหลอกขนาดเล็ก
องค์ปราสาทประธานมีโคปุระ 4 ด้าน โคปุระด้านทิศตะวันออกก่อยอดเป็นเรือนปราสาท ซึ่งแตกต่างจากโคปุระของปราสาทองค์อื่นที่ไม่มีการก่อยอดเป็นเรือนปราสาท ระหว่าง โคปุระทั้ง 4 มีวิหารระเบียงคดที่มีหลังคาหินทรายและหลังคาอิฐมุง ด้านนอกก่อทึบ ด้านในเว้นเป็นเสาเรียงเชื่อมต่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม
บริเวณวิหารคดมีบรรณาลัย 2 หลัง ตามแนวเหนือ-ใต้ กึ่งกลางปราสาทเป็นปราสาทประธาน หลังเดียวขนาดใหญ่ ลานด้านในปูพื้นศิลาแลงทั้งหมด และมีการประดับเสานางเรียง ตรงทางเดินเข้าและบริเวณรายรอบปราสาทประธาน ซึ่งนับเป็นการวางแผนผังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของปราสาทสด๊กก๊อกธม บารายกว้างใหญ่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่บริเวณหน้า ปราสาท
ปัจจุบันน้ำแห้งแต่ก็ยังพอมองเห็นแนวคันดินรอบบารายได้ ถัดจากบารายมีทางเดินก่อด้วยศิลาแลงมุ่งหน้าตรงไปยังปราสาท สองข้างทางปักเสานางเรียงเป็นระยะ แสดงให้เห็น ถึงความอุดมสมบูรณ์และพิธีกรรมมากมายที่เคยเกิดขึ้นบริเวณปราสาท
จารึกสด๊กก๊อกธมบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมพบศิลาจารึกที่สำคัญ 2 หลัก ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 1 จารึกบนแผ่นหินทรายรูปใบเสมา พบโดยเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากรบริเวณบ้านสระแจง ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อ พ.ศ. 1480 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เนื้อความบันทึกเกี่ยวกับการถวายทาสชาย หญิงดูแลรักษาศิวลึงค์ และรายนามทาสพระ
ปัจจุบันจารึกหลักนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร จารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 จารึกบนหลักแท่งหินสี่เหลี่ยมค้นพบบริเวณด้านทิศเหนือของ ปราสาทสด๊กก๊อกธมโดยเจ้าอาวาสวัดโคกสูง เป็นจารึกที่มีความสำคัญต่อการค้นคว้าด้านการลำดับราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก
สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อ พ.ศ. 1595 เนื้อความในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 พระราชทานที่ดินและผู้คนเพื่อสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นอาจารย์ และยังจารึกเรื่องการสืบสายตระกูลพราหมณ์สทาศิวะควบคู่ไปกับพระนามของกษัตริย์เขมรย้อนหลังจนถึงพราหมณ์ศิวไกวัลยะ
ข้อมูลท่องเที่ยว - ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 348 (ถ.อรัญประเทศ-ตาพระยา) ประมาณ 25.5 กม. จะถึงทางหลวงหมายเลข 3341 เลี้ยวขวาเข้า ไปประมาณ 10 กม. จะเห็นสถานีอนามัยโคกสูงอยู่ขวามือ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกอีกประมาณ 4 กม. ผ่านโรงเรียนหนองเสม็ด ถึง กม.ที่ 12 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2.5 กม.
ข้อมูลโดย : โครงการ 7greens - การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
1600 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพ 10400, ประเทศไทย
โทร: 02 250 5500, TAT Call Center: 1672
เว็บไซต์ :http://7greens.tourismthailand.org/